PRS Anniversary Guitars ตอนที่ 3 : 25th Anniversary (2010) – รุ่น 25 ปี รุ่นนี้นกมีเงา
สำหรับปี 2010 ซึ่งเป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 25 ปีของค่ายกีตาร์คอนก จัดเป็นปีที่มีกีตาร์ anniversary มากที่สุด และกระจุกอยู่ในเกรด core USA เนื่องจากในตอนนั้น PRS ยังไม่ได้อัดสเปคจริงจังให้ไลน์ SE เหมือนโมเดล 2017 หัวลายเซ็นที่เราเริ่มคุ้นตากัน กีตาร์ PRS รุ่นฉลอง 25 ปี เริ่มสายการผลิตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2009 นะครับ จึงไม่แปลกถ้าเราจะเจอบางตัวที่เป็น 25th แต่ serial number เขียนเป็นปี 2009
คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความ กีตาร์ PRS รุ่นฉลอง 10 ปี
คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความ กีตาร์ PRS รุ่นฉลอง 20 ปี – ของมันต้องมี
แต่ สถานการณ์ของ PRS ก่อนจะมาถึงปีที่ 25 ค่อนข้างลำบากนะครับ ผมอยากเล่าที่มาที่ไปสักเล็กน้อย
US Great Recession ยุคเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกา ขาลงอุตสาหกรรมกีตาร์ และที่มาของ all new 25th Anniversary Models
เพื่อนๆที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ PRS บางคนอาจพอจะนึกออกว่า มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่กีตาร์ PRS เกรด core USA มีการใช้อินเลย์นกแบบกลวง (hollow birds) ซึ่งช่วงที่ว่านั้นคือระหว่างปลายปี 2007 ถึงกลางปี 2009 ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่อเมริกากำลังประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหนัก (The Great Recession) หรือที่คนไทยอาจคุ้นเคยในชื่อ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเกิดจากการที่สถาบันการเงินของอเมริกาต่างปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ (คือแบงค์ให้กู้ง่ายเกินไป) คนรายได้ต่ำแห่ไปขอกู้ซื้อบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปีก็เกิดปัญหาฟองสบู่แตก กลายเป็นหนี้เสียที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยอดส่งออกสินค้าหดตัว อุตสาหกรรมต่างๆ มีการชะลอตัว มีการลดกำลังการผลิต รวมถึงลดการจ้างงาน อัตราการว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้น
เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ PRS และอุตสาหกรรมการผลิตกีตาร์ในอเมริกาโดยตรง ในปี 2008 รายได้ของ PRS ลดลงไปกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเนื่องจากดีลเลอร์สั่งผลิตกีตาร์น้อยลงมาก ทางโรงงานต้องลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง เช่น การลดปริมาณวัสดุอินเลย์ลงจากนกเต็มตัวกลายเป็นนกกลวงๆ ออกรุ่นใหม่ๆ ที่มีราคาย่อมเยา (ในเวลานั้นคือ Mira และ Starla ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของไลน์ S2 ในปัจจุบัน) จนถึงมีการลดจำนวนพนักงานลง 30 คนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายก็เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2009 จากช่วงลำบากตอนนั้น PRS ได้วางกลยุทธ์การผลิตเครื่องดนตรีของแบรนด์ใหม่ มีการยกเลิกสายการผลิตกีตาร์สิบกว่ารุ่นในปลายปี 2009 และประกาศเปิดตัวกีตาร์รุ่นใหม่ สเปคใหม่ โทนเสียงใหม่ ในรูปของ 25th Anniversary อีกสิบกว่ารุ่น เพื่อกระตุ้นตลาดกีตาร์ที่เพิ่งผ่านช่วงวิกฤติ และยังเบนเข็มการลงทุนไปให้ความสำคัญกับไลน์ผลิตล่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการงอกไลน์ผลิต S2 ในปี 2013 จนถึงปีปัจจุบันที่สเปคของไลน์ SE นั้นดูดีเกินราคาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ผมมองว่า PRS 25th Anniversary คือสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่านของ PRS จากยุค ที่แฟนๆ รุ่นเก่าเคยรู้จัก มาสู่ยุคใหม่ โทนเสียงใหม่ สเปคใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ PRS เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ และสำหรับเพื่อนๆ ที่สงสัยว่า พวกรุ่น Custom 24 ติดปิคอัพแรงๆ อย่าง HFS, หรือ McCarty สเปคที่น้าแอ๊ดคาราบาวใช้, สวิทช์ Rotary, รวมถึง CE 24 โมเดลเก่าที่ไม่มีนก มันหายไปตอนไหน? คำตอบก็คือมันสาบสูญไปในช่วงที่เกิด 25th Anniversary นี่แหละ
List of PRS 25th Anniversary Guitars and Amplifier : PRS รุ่น 25 ปี มีอะไรบ้าง
สำหรับกีตาร์ฉลอง 25 ปีของ PRS นั้น จะมาทั้งเกรด core และ SE และยังมีแอมป์ด้วยนะ คลิกชื่อรุ่นเพื่ออ่านรายละเอียดได้เลยครับ
- Core USA
- 25th Anniversary Custom 24
- 25th Anniversary McCarty Narrowfield
- 25th Anniversary SC 245
- 25th Anniversary 513
- 25th Anniversary 305
- 25th Anniversary Mira 245 Soapbar
- 25th Anniversary Swamp Ash Special Narrowfield
- 25th Anniversary Modern Eagle II
- 25th Anniversary Modern Eagle III
- 25th Anniversary Hollowbody II
- 25th Anniversary Singlecut Hollowbody II
- 25th Anniversary Santana
- 25th Anniversary Dragon
Core Level 25th Anniversary Guitars
ผมขอเริ่มจากกีตาร์ในเกรด core ผลิตอเมริกาก่อนดีกว่า ซึ่งมีเยอะมาก
25th Anniversary Custom 24
- Model : 25th Anniversary Custom 24
- Body : Mahogany 1 piece
- Top : Figured maple 10 Top
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Regular
- Scale length : 25″
- Number of frets : 24 medium-jumbo
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : Custom
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Tremolo
- Pickups : 57/08, with gold covers
- Electronics : 5 way rotary switch, 1 Volume, 1 Tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
Custom 24 เป็นรุ่นที่ได้ไปต่อสู่ปี 2010 โดยมาในร่างเวอร์ชันฉลอง 25 ปี ในขณะที่รุ่น Custom 22 ถูกระงับการผลิตไปชั่วคราว สำหรับ PRS CU24 25th นั้น ผมคิดว่าบ้านเราก็คงเคยคุ้นหูคุ้นตากันบ้างเนื่องจากมีเยอะ และตัวแทนไทยในตอนนั้น (Lucky Music) ก็รับมาขายด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นรุ่นหายากเท่าไหร่
ความโดดเด่นของ CU24 25th นั้น อย่างแรกที่สะดุดตาเลยคือโลโก้นกอินทรี 25th Anniversary ที่ฝังไว้บน rosewood veneer ที่หัวกีตาร์ โลโก้นี้ดูเผินๆ ก็คล้ายโลโก้ของรุ่น Modern Eagle ที่ใช้วัสดุ ripple abalone แต่ของรุ่น 25 ปีนั้นออกแบบให้เป็นสองสีซ้อนกันเสมือนเป็น “เงา” ของนกอินทรี ใช้วัสดุสังเคราะห์ที่เรียกว่า banded melon มีเลข 25th ตัวเล็กๆ อยู่ใต้ตัวนก
จุดต่อไปก็คืออินเลย์นก ซึ่งมาในวัสดุเดียวกัน สไตล์การออกแบบเหมือนกัน เราเรียกอินเลย์นกแบบนี้ว่า Shadow Birds พวกมันบินมาบนฟิงเกอร์บอร์ดไม้ Indian rosewood สีน้ำตาลเข้มที่ตัดกับเส้นบายดิ้งพลาสติกสีขาวและมี side dot สีดำ
บอดี้ยังเป็นไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียวตามมาตรฐาน PRS core USA แน่นอนว่าคอมาฮอกกานีก็เป็นไม้ชิ้นเดียวเช่นกัน (มีการต่อปีกไม้รูปสามเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ตรงข้างหัวกีตาร์ เพื่อทำเป็นทรงหัวของ PRS) โปรไฟล์หรือเชพของคอมีให้เลือกสองแบบระหว่าง Regular กับ Wide Thin ซึ่งเป็นปีท้ายๆ ที่ PRS ยังใช้เชพคอแบบนี้ ก่อนจะปรับเป็นเชพใหม่ที่มีคำว่า Pattern (Pattern, Pattern Regular, Pattern Thin, Pattern Vintage) ในปีถัดมา
นอกจากเชพคอที่ใช้เป็นปีสุดท้ายแล้ว ก็ยังมีอะไหล่บางส่วนที่ใช้กับรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายเช่นกัน เช่นลูกบิดล็อคสาย Phase II สีเงิน รวมถึง pickup selector แบบหมุนที่เรียกว่า Rotary switch ที่สร้างเสียงได้ตั้งแต่เทเลยันกิบสัน ก็มาเป็นอะไหล่มาตรฐานของรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนเป็นสวิทช์ 5 way blade ในปีถัดมา (ดูวิธีใช้และฟังเสียงของ PRS Rotary Switch ได้ที่นี่ครับ) ส่วนปิคอัพเป็นรุ่น 1957/2008 หรือเรียกสั้นๆว่า 57/08 มาในฝาสีทอง เป็นปิคอัพแนววินเทจที่ลุงพอลใช้ลวดจาก supplier เดียวกันที่เคยผลิตลวดพันปิคอัพให้ บ. Gibson ในยุคทอง 50s ซึ่ง PRS ได้นำลวดดังกล่าวมาพันปิคอัพตั้งแต่ปี 2008 โดยเปิดตัวรุ่น 57/08 นี้เป็นรุ่นแรกก่อนจะมีอีกหลายรุ่นตามมา จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่นปิคอัพรุ่นนี้ ปิคอัพ 57/08 ให้สุ้มเสียงที่ไม่เหมือน PRS Custom 24 ที่สาวกเคยรู้จักมาตลอด 25 ปี มันมีย่านกลางที่เยอะ แหลมรอง และเอาท์พุทที่แสนต่ำด้วยแม่เหล็ก alnico 2 ทั้งเซ็ท บางคนชอบกีตาร์เสียงหวานๆ ก็จะชอบไม่ยาก แต่ถ้าใครติดหูกับคาแรคเตอร์ร็อคๆ เมทัลๆ ของกีตาร์ PRS Custom 24 ยุค nu metal ที่ติดปิคอัพ HFS/Vintage Bass ก็คงไม่แปลกถ้าจะรู้สึกผิดหวังกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
CU24 25th มากับเคสสีขาวกระดูกสกรีนโลโก้ฉลอง 25 ปี เป็น Anniversary รุ่นเดียวที่ใช้เคสขาวแบบนี้ แม้ 25th CU24 จะดูเท่ แต่ราคามือสองก็ไม่ได้แรงอะไรนะครับ หกเจ็ดหมื่นบาทก็จัดได้ละ นั่นก็เพราะในแง่ของไม้นั้น กีตาร์รุ่นนี้ไม่ได้มีอะไรพิสดารเลย ก็แค่ CU24 ที่เพิ่มงานประดับด้วยวัสดุสังเคราะห์ต้นทุนต่ำกับเปลี่ยนเคสใหม่ ซึ่งสำหรับคนที่เล่น PRS ตัวอเมริกามาก่อนจะดูออกว่าสเปคมันลดลงกว่า 20th Anniversary
25th Anniversary McCarty Narrowfield
- Model : 25th Anniversary McCarty Narrowfield
- Body : Mahogany, McCarty thickness, 1 piece
- Top : Figured maple
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 24 jumbo
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : McCarty
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Stoptail
- Pickups : 57/08 Narrowfield
- Electronics : 3 way toggle switch, 1 Volume, 1 Tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
PRS รุ่น McCarty ขวัญใจของผมก็ได้รับการยกเครื่องด้วย สำหรับเวอร์ชัน 25 ปี กีตาร์ MC มาแปลก เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนอินเลย์บอร์ด แต่มากับปิคอัพคู่ใหม่ที่ชื่อ 57/08 Narrow Field (NF) และเป็นที่มาของชื่อรุ่น ปิคอัพตัวนี้ที่จริงก็คือรุ่น 57/08 ที่ออกแบบใหม่ บีบหน้าปิคอัพให้แคบลงแล้วยืดด้านล่างให้ลงลึกไปในหลุม pickup cavity ในตัวกีตาร์ ที่ออกแบบเช่นนี้ก็เพื่อจำกัดพื้นที่สนามแม่เหล็กของปิคอัพ โฟกัสย่านกลาง ลดคาแรคเตอร์ “ฟุ้ง” ของปิคอัพฮัมบัคเกอร์ เพื่อให้มีคาแรคเตอร์ที่ใกล้เคียงกับ single coil มากขึ้น แต่ยังคง output เหมือน 57/08 humbucker ทุกประการ พูดง่ายๆคือ ลุงพอลอยากให้ปิคอัพ 57/08 vintage humbucker ออกโทน single coil โดยไม่จี่ นั่นเอง
สุ้มเสียงที่ผมลองมามันก็เป็นไปตามที่ PRS โฆษณาไว้ คือต่างจาก 57/08 ตรงที่มันโฟกัสย่านกลางมากกว่า เล่นสนุกกว่า (สำหรับผม) ไม่รู้จะเปรียบมันว่าเหมือนกับอะไร ไม่เหมือน humbucker ไม่เหมือน P90 บอกไม่ถูก แต่เพราะไปอีกแบบ โน้ตชัดกว่า 57/08 ตัว hum แต่ถามว่าสวยไหม? อันนี้ก็ตาใครตามันนะครับ
สเปคส่วนอื่นๆ ก็ยังเป็นไปตามรุ่น McCarty กล่าวคือบอดี้หนากว่าตระกูล Custom ราวๆ 1/8 นิ้ว ท็อปเมเปิลแต่ไม่ใช่เกรด 10 top เหมือนอย่าง CU24 25th มี 22 เฟรท ใช้เฟรทขนาดใหญ่กว่า Custom บริดจ์ Stoptail และสวิทช์เลือกปิคอัพเป็น 3 way toggle (แต่ตัดคอยล์ไม่ได้เนื่องจาก PRS ไม่ออกแบบ pu NF ให้มีสายตัดคอยล์) ส่วนงานประดับก็เหมือน 25th CU24 ทุกประการ นอกจากนี้ McCarty NF ยังเป็น MC รุ่นแรกที่มากับลูกบิดล็อกสาย จากเดิมที่กีตาร์ซีรีส์นี้เคยใช้แต่ลูกบิดวินเทจไม่ล็อกสายมาตั้งแต่ปี 1994
แม้ MC NF จะดูพิเศษ ดูต่างจาก MC รุ่นปกติอย่างชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนว่า PRS รุ่นนี้ไม่ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีเท่าใดนัก ส่วนตัวผมมองว่าเพราะหน้าตาและ pu config ที่ “แหวกแนว” เกินกว่าที่สาวกส่วนใหญ่จะรับได้ ซึ่ง PRS ก็ใช้ปิคอัพ NF เฉพาะกับ MC รุ่น 25 ปีแค่รุ่นเดียว ไม่นำมาใช้ต่อใน MC เวอร์ชันปกติ
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจกีตาร์ PRS McCarty ผมเขียนบทความเล่าตั้งแต่ที่มาของชื่อนี้ว่าสำคัญเพียงใด รวมถึงไล่ลำดับกีตาร์ McCarty ทุกรุ่นตั้งแต่ปีแรกถึงปีปัจจุบันซึ่งมีเยอะมาก บทความมีหลายตอน สนใจลองคลิกอ่านดูครับ
25th Anniversary SC 245
- Model : 25th Anniversary SC 245
- Body : Mahogany, 1 piece
- Top : Figured maple
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 24.5″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : 245
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Stoptail
- Pickups : 57/08 with covers
- Electronics : 2 Volume, 2 Tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
สำหรับรุ่น 25 ปี นั้นมีหลากหลายรูปทรงมากนอกจาก Custom 24 กับแมคคาร์ทีก็ยังมีทรง Singlecut อีกด้วยสำหรับรุ่น Singlecut 25 ปีนั้น ใช้พื้นฐานเดียวกับรุ่น SC 245 โมเดล 2009 คือ Body หนา 6 cm ทำด้วยไม้มาฮอกกานีเพียงชิ้นเดียวไม้ท็อปเป็นไม้เมเปิ้ลลายเฟลม ภายในบอดี้มีการเจาะไม้ออกเล็กน้อยเพื่อลดน้ำหนักและสร้าง resonance จากตัวกีตาร์ (ทรง SC ปัจจุบันเลิกเจาะแล้ว) ส่วนคอก็เป็นไม้มะฮอกกานีชิ้นเดียวเชพอ้วน Wide Fat ส่วนความยาวสเกลก็ 24.5 นิ้วซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ Indian rosewood และ inlay กับงานประดับต่างๆ รวมถึง Case ก็เหมือนกับรุ่น Custom 24 25th ทุกประการ
เช่นเดียวกับรุ่น McCarty narrow field คือ SC 245 25th ใช้ปิคอัพรุ่น 57/08 แบบมีฝาครอบ ลูกบิดล็อคสายเฟส 2 ซึ่งใช้เป็นครั้งแรกสำหรับกีตาร์ทรงนี้ ส่วนปุ่มคอนโทรลต่างๆก็เหมือนรุ่น 245 ปกติก็คือมี Volume 2 อันและมีโทนอีก 2 อันตัดคอยล์ไม่ได้
แน่นอนสุ้มเสียงก็ต้องยิ่งมีความวินเทจมากกว่า McCarty มีย่านเบสและย่านกลางมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากสเกลที่สั้นกว่าและ Body ที่หนากว่านั่นเอง
25th Anniversary 513
- Model : 25th Anniversary 513
- Body : Mahogany, 1 piece
- Top : Figured maple
- Neck : Mahogany
- Neck joint : set-in, 513 joint style
- Neck profile (s) : 513 Wide Fat
- Scale length : 25.25″
- Number of frets : 22, 513 tall frets
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : 513
- Tuners : PRS Phase II locking
- Bridge : Tremolo
- Pickups : 513
- Electronics : 5way blade switch for pickup selection, 3 way blade switch for 3 modes switching, 1 Volume, 1 Tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
สำหรับรุ่น 513 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2003 และเลิกผลิตไปแล้ว แฟนๆ ลุงพอลรุ่นใหม่ๆอาจจะไม่รู้จักกีตาร์ PRS รุ่นนี้ concept หลักของมันก็คือใช้ปิคอัพ 5 อัน มาผสมเสียง ได้ 13 เสียงและเป็นที่มาของชื่อ ส่วนในรายละเอียด ก็คือใช้บอดี้ที่มีความหนาเท่ากับรุ่น McCarty มี 22 เฟรทซึ่งแคบแต่สูงเป็นพิเศษ คอเป็นไม้มาฮอกกานี โปรไฟล์อ้วนคล้าย Wide Fat แต่หน้าแคบกว่าเล็กน้อยคือราวๆ 1/64 นิ้ว เข้าคอแบบ set neck แต่ได้รับการออกแบบจุดต่อคอใหม่ให้ดูคล้ายรุ่น Singlecut คือ heel ยื่นออกมาไม่มาก ตรงส่วนปลาย heel ถูกปาดโค้งเก็บงานสวยงาม นัทเป็นแบบ compensated ซึ่งฝั่งสายเบสทำมุมเอียงไปหาเฟรทแรกมากกว่านัทปกติเล็กน้อย มีใช้เฉพาะในกีตาร์รุ่น 513, 305
การใช้งานระบบไฟฟ้าของรุ่น 513 มี ปิคอัพหรือคอยล์ 5 อัน มีสวิทช์แบบ blade 5 ทาง เป็นสวิตซ์หลัก 1 อัน แล้วก็มีสวิตช์ blade แบบ 3 ทางอีก 1 อัน ซึ่งเรียกว่า Mode Switch มีไว้เพื่อเลือกระดับของ output ได้สามระดับ ถ้าเปิดเต็มก็จะให้ทนแบบ full humbucker ลดลงมา 1 ระดับจะเป็น clear humbucker ที่มี output ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และ mode สุดท้ายคือ single coil ทั้ง 5 แก๊ก คลิกอ่านระบบ switching แบบต่างๆ ของ PRS ได้ที่นี่ครับ
สำหรับงานประดับก็แน่นอน ว่าใช้ อินเลย์และ headstock inlay สไตล์ 25th Anniversary ซึ่งคนที่ชอบ 513 ในดีไซน์ปีแรกๆที่เปิดตัว มองดูก็อาจจะไม่โอเคกับตัว 25 ปีสักเท่าไหร่ เพราะนก ของ 513 original มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหลายคนก็บอกว่ามีความประณีตสวยงามมากกว่านกของ 25 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการใช้งานนั้น ไม่ต่างกันนะครับ
ถ้าถามว่าน่าจัดไหม ก็ขอตอบว่าน่าจัด หากเพื่อนๆ ชอบฟังก์ชันการใช้งานหรือชอบเสียง เยอะๆ แต่ถ้ามองหา 513 ที่มีความเป็น Original ผมแนะนำว่า ให้ไป หาปีเก่าๆประมาณยุค 2000 ต้นๆจะดูดีกว่าเวอร์ชั่น 25 ปีเยอะ ถ้าเป็นไปได้ หา 513 เวอร์ชั่นลิมิเต็ดคอบราซิลเลียนโรสวูด จะยิ่งสุดครับ
25th Anniversary 305
- Model : 25th Anniversary 305
- Body : Alder
- Top : –
- Neck : Quarter sawn maple
- Neck joint : Set-in, 513 joint style
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25.5″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : 305
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Tremolo, steel components
- Pickups : 305
- Electronics : 5 way blade selector, 1 Volume (250k), 1 Tone (250k)
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
สำหรับรุ่น 305 ถ้าใครไม่รู้จัก อธิบายง่ายๆมันก็คือกีตาร์ PRS ที่ออกแบบโดยมีอิทธิพลจากกีต้าร์ Fender นั่นเอง บอดี้ของกีต้าร์รุ่น 305 ใช้ไม้ alder ซึ่งมีจำนวนชิ้นต่อกันไม่มาก ประมาณ 2-3 ชิ้นเท่านั้น Body ด้านหน้าซึ่งปกติจะเป็นส่วนท็อปได้รับการเกลา-ขัดจนได้ curve สวยงามแบบไวโอลินคล้ายรุ่น Custom 24 คอของ 305 ใช้ไม้เมเปิลที่เลื่อยแบบ quarter sawn ที่ให้ความแข็งแรงดีกว่าการเลื่อยแบบ flat sawn ที่ผู้ผลิตกีตาร์แนวนี้แบรนด์อื่นๆ มักใช้กัน
นอกจากนี้ความแตกต่าง ระหว่างรุ่น 305 กับยี่ห้อต้นฉบับก็คือการเข้าคอ เพราะ PRS 305 เข้าคอด้วยกาว (glued-in หรือ set-in neck) และใช้ neck joint แบบเดียวกับรุ่นพี่ 513 ซึ่งลุงพอลบอกว่าจุดเชื่อมแบบนี้ให้ย่านเสียงเบสที่ดีขึ้น
สำหรับ 305 ในเวอร์ชัน 25 ปีนั้น สเปคไม้ฟิงเกอร์บอร์ดมีเพียงไม้ Indian rosewood อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีออพชันบอร์ดเมเปิลให้เลือกเหมือนในเวอร์ชันปกติ แต่จะได้งานอินเลย์แบบ 25th Anniversary แทน สเกลของมันมีความยาว 25.5 นิ้ว แต่รัศมีความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ด ก็ยังเป็น 10 นิ้ว ตามปกติของยี่ห้อ PRS
ภาพไฟฟ้าของรุ่น 305 เป็นปิคอัพแบบ Single Coil ที่ถอดมาจากรุ่น 513 ทำงานร่วมกับซีเล็คเตอร์แบบ 5 ทาง คล้ายๆ ของต้นฉบับ แต่ปุ่มคอนโทรลของ PRS จะมีแค่ volume และ tone อย่างละอันเท่านั้น แต่ค่า pot ของทั้ง volume และ tone ถูกเปลี่ยนเป็น 250k ลดลงจาก 500k ที่ PRS ใช้กับกีตาร์ส่วนใหญ่ ซึ่งที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ได้ความถี่สัญญาณที่ใกล้เคียงกับกีตาร์ต้นตำรับ
ผมเคยลองกีต้าร์รุ่นนี้ตัวเป็นๆ มาแล้ว ผมรู้สึกว่ามันก็ไม่ค่อยเหมือน Fender Stratocaster สักเท่าไหร่นัก จริงอยู่ว่ามันมีความใสเด้ง แต่ฟังไม่ค่อยโปร่งเท่าไหร่ คือมันออกแน่นๆ สาเหตุอย่างหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างของ Body ที่ไม่ได้เจาะ pickup routing และแปะ pickguard ด้านหน้าอย่างต้นฉบับ ในเมื่อมีเนื้อไม้เยอะกว่า ช่องว่างน้อยกว่า ก็คงไม่แปลกอะไรที่ PRS รุ่น 305 จะให้จะให้เสียงที่แตกต่างจาก Fender โดยธรรมชาติ แถมปิคอัพและระบบไฟฟ้าก็คนละอย่าง
25th Anniversary Mira 245 Soapbar
- Model : 25th Anniversary Mira Soapbar
- Body : Mahogany, 1 piece
- Top : –
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Standard/Regular
- Scale length : 24.5″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : 245
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Stoptail
- Pickups : P90
- Electronics : 3 way blade switch, 1 volume, 1 tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
Mira เป็นกีต้าร์ รุ่นราคาประหยัดรุ่นหนึ่งของ PRS ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 มันถูกวางตำแหน่งให้เป็นรุ่นที่ผลิตในโรงงานที่อเมริกาแต่ขายในราคาย่อมเยา ซึ่งมีการปรับลดสเปคจากเกรด core USA ลงไปบางอย่าง และในเวลาต่อมามันก็กลายเป็นกีตาร์รุ่นหนึ่งในซีรี่ส์ S2
โครงสร้างของกีต้าร์รุ่นนี้จะใช้ไม้มาฮอกกานีล้วนๆ ทั้ง Body และคอ โดยตัวจะค่อนข้างบางกว่ารุ่นอื่นๆที่ผลิตในอเมริกา แต่อะไหล่ต่างๆ ก็ยังใช้มาตรฐานเดียวกับตัวอเมริกา 100% ไม่เหมือนซีรีส์ S2 ที่ใช้อะไหล่จากเกาหลีเกือบทั้งตัว สำหรับ Mira เวอร์ชัน 25 ปีมีการปรับสเปคจากเวอร์ชั่นปกติคือความยาว scale ลดลงเหลือ 24.5 นิ้วจากเดิม 25 นิ้ว จำนวนเฟรทก็ลดลงเหลือ 22 จากเดิม 24 ส่วนปิคอัพเปลี่ยน เป็น soapbar/P90 และเนื่องจากปิคอัพแบบนี้มันคือ Single Coil ดังนั้นพวกปุ่ม Control ต่างๆ ก็มาแบบเรียบง่าย คือมีแค่ ปุ่ม Volume, Tone และสวิตช์ 3 ทาง ทั้งหมดติดตั้งอยู่บนปิคการ์ดรูปทรงสวยงาม ในส่วนของงานประดับก็ได้อินเลย์นกเงา 25 ปี แต่ไม่มีเส้นติดบายดิ้งขอบฟิงเกอร์บอร์ดนะครับ
ผมไม่เคยเล่นกีตาร์รุ่นนี้เพราะหายากมาก แต่เคยเล่น PRS สเกล 24.5 นิ้ว ที่ติดปิคอัพแบบนี้อยู่บ้าง แล้วต้องบอกว่ารู้สึกประทับใจอย่างมาก โดยเฉพาะเสียงคลีนกับเสียงแตกอ่อน มันมีความ สะอาดโปร่ง แต่ชัดเจน เสียงของปิ๊กได้ยินค่อนข้างชัด ฟังดูมีความ organic เป็นธรรมชาติอย่างบอกไม่ถูก ไม่คลุมเครือเหมือนปิคอัพชนิด humbucker หลายๆ รุ่นที่เคยได้ยินมา (ต่อให้เป็น humbucker ของ PRS บางรุ่นเองก็ตาม) เป็นรสชาติอร่อยลงตัวที่อยู่ระหว่าง single coil กับ humbucker ซึ่งผมเองก็ติดใจและคิดว่า สักวันหนึ่งคงต้องมีกีตาร์ PRS ที่ติด soapbar/P90 สักตัว ท่าจะดีเหมือนกัน
25th Anniversary Swamp Ash Special Narrowfield
- Model : 25th Anniversary Swamp Ash Special Narrowfield
- Body : Swamp ash
- Top : –
- Neck : Quarter sawn rock maple
- Neck profile (s) : Standard/Regular
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Maple
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : –
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : SAS
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Tremolo
- Pickups : 57/08 Narrowfield
- Electronics : 5 way blade PU selector, 1 volume, 1 tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
กีต้าร์รุ่น Swamp Ash Special (SAS) ของ PRS ก็คือกีต้าร์ทรงเดียวกับรุ่น CE 22 แต่บอดี้ทำจากไม้ swamp ash ลายสวยๆ 1-3 ชิ้น ผ่านการเกลาท็อปให้โค้งด้วยเครื่อง CNC และเก็บงานด้วยทีมงานของ PRS จนได้กีตาร์บอดี้ swamp ash ที่มีองศาความโค้งนูนเช่นเดียวกับรุ่น Custom คอเป็นไม้เมเปิล กีตาร์รุ่น SAS มีการผลิตมานานแล้วตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งยุคนั้นมากับ PU configuration แบบ HSH ใช้ humbucker รุ่น McCarty set ที่ตำแหน่งหน้า-หลัง ส่วนตรงกลางเป็น Seymour Duncan รุ่น Vintage Rail หน้าตาคล้าย single coil แต่ที่จริงมันคือ humbucker ที่มีขนาดเท่า single coil SAS เวอร์ชันออริจินอลที่ผมพูดถึง หน้าตาเป็นอย่างตัวข้างล่างนี้ครับ
สำหรับเวอร์ชัน 25 ปี แม้จะยังใช้ไม้เมเปิล quater sawn เกรดดีมาทำคอเหมือน SAS ปีเก่า แต่ของ 25th มีการปรับดีไซน์ใหม่เล็กน้อย คือมีการปาดชายเว้าทั้งบนและล่างเข้าด้านในบอดี้มาขึ้นเล็กน้อย และปาดโค้งโค้งตรงบริเวณ neck joint เพื่อความสวยงามกลมกลืนพร้อมความสบายในการเล่น
ระบบปิคอัพได้เปลี่ยนเป็น ปิคอัพรุ่น 57/08 Narrow Field ทั้ง 3 ตำแหน่ง ควบคุมด้วยซีเล็คเตอร์ 5 ทาง มีวอลลุ่ม และโทนอย่างละ 1 อัน SAS NF เวอร์ชันปกติจะมีไม้ฟิงเกอร์บอร์ดให้เลือก 2 ออพชันระหว่างไม้ Indian rosewood กับไม้เมเปิ้ล แต่สำหรับเวอร์ชัน 25 ปี ฟิงเกอร์บอร์ดมีไม้เมเปิลอย่างเดียว (บางตัวมีลายเฟลมแถมมาด้วย!) ตรงข้ามกับรุ่น 305 25th Anniversary ที่ให้บอร์ด Indian rosewood ส่วน inlay fingerboard และงานประดับต่างๆก็ตามสไตล์ของรุ่น 25 ปี แต่ไม่มีเส้น binding ตรงขอบบอร์ด
ผมเคยเล่น PS รุ่นนี้ตัวเป็นๆมาก่อนอยากบอกว่านี่คือ PRS ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งที่เคยเล่นมาผมคิดว่าสุ้มเสียงของปิคอัพรุ่น Narrow Field ช่างไปได้ดีกับ body สไตล์ รุ่น Swamp Ash Special อย่างเหลือเชื่อ คือมันมีความชัดคมใสไม่มีความเบลอ บาน เฟ้อ แบบ 57/08 ตัวเต็มที่มากับ custom 24 รุ่น 25 ปี
กีตาร์รุ่นนี้เป็น PRS ที่คนส่วนใหญ่คงไม่ค่อยรู้จักแต่ส่วนตัวผมอยากบอกว่านี่คือ PRS ที่เสียงดีมากๆ รุ่นหนึ่ง และมีความสวยงามเฉพาะตัวจากลาย ไม้ swamp ash ที่มีความโค้งมนสวยงามเป็นธรรมชาติรวมถึง inlay นกมีเงาซึ่งจะดูสวยเป็นพิเศษเมื่ออยู่บนฟิงเกอร์บอร์ดเมเปิ้ล (ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใด PRS จึงเลือกใช้ดีไซน์อินเลย์แบบนี้กับบอร์ด rosewood เพราะทำให้มองแทบไม่เห็นเงานก ผมเองเคยจับของจริง ก็ยังต้องเพ่งมอง) ซึ่งถ้าหากใครมีโอกาสก็อยากแนะนำให้จัดมาเล่นดู ซึ่งผมเคยแนะนำให้คนในกลุ่ม PRS Club Thailand ของผม ได้จัดมาแล้วซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่าแฮปปี้มากๆ และแม้โดยส่วนตัวผมจะไม่ค่อยพิสมัย PRS รุ่นฉลอง 25 ปีสักเท่าไหร่ แต่สำหรับ SAS NF คือข้อยกเว้น เพราะผมพิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเองว่ามันเจ๋งจริง และอยากแนะนำสำหรับใครที่ชอบเสียงคมๆ แนวบอดี้ไม้แอช ว่า กีตาร์ PRS รุ่นนี้คู่ควรแก่การหามาประจำการอย่างยิ่ง ราคา SAS NF 25th มือสองก็ใกล้เคียงกับ Custom 24 มือสอง (สเปคมาตรฐาน) หรืออาจถูกกว่าเล็กน้อย
แต่สิ่งที่ควรทราบไว้ด้วยก็คือ ด้วยความที่มันมากับปิคอัพรูปทรงเฉพาะตัว ทำให้กีตาร์รุ่นนี้ไม่สามารถเอาไปโมดิฟายเปลี่ยนปิคอัพได้ จึงอาจไม่เหมาะกับมือกีตาร์สายโมดิฟายสายทดลองนะครับ
หลังจากหมดฤดูกาลฉลองวันเกิด PRS ก็ยังผลิต Swamp Ash NF ต่อไปอีก 3 ปีในเวอร์ชันที่ไม่ใช่ 25th Anniversary (แบบตัวในคลิปข้างล่างนี้) ก่อนจะเลิกผลิตไป
25th Anniversary Modern Eagle II
- Model : 25th Anniversary Modern Eagle II
- Body : Mahogany, 1 piece
- Top : Figured maple
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : ME II
- Tuners : PRS Phase II locking, ebony buttons
- Bridge : Tremolo or Stoptail
- Pickups : 57/08 with covers
- Electronics : 3 way toggle switch, 1 volume, 1 push/pull tone
- Hardware : Nickel
- Finish : Nitrocellulose, high gloss or satin
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
Modern Eagle (ME) คือกีตาร์รุ่น Top สุดของยี่ห้อ PRS ในสายการผลิตปกติ (ME ปัจจุบันมาถึงรุ่นที่ 5 ย้ายขึ้นไปอยู่ในเกรด Private Stock แล้วเรียบร้อย) แนวคิดของซีรีส์ ME คือการสร้างกีตาร์มาตรฐานสูงที่ให้ฟีลและเสียงแนววินเทจ แต่มีความสะดวกในการใช้งานเฉกเช่นกีตาร์สมัยใหม่ เอกลักษณ์ของกีต้าร์รุ่นนี้ที่ผ่านๆ มา คือส่วนคอและฟิงเกอร์บอร์ดทำจากไม้ในวงศ์ dalbergia หรือไม้จำพวก rosewood นั่นเอง และเคยมีการใช้ไม้ Brazilian rosewood ในกีตาร์ซีรีส์นี้รุ่นแรก แต่สำหรับรุ่น ME II 25 ปีเปลี่ยนสเปคเป็นไม้ Indian rosewood สเปคบอดี้ก็เป็นไม้มาฮอกกานีความหนาเท่ารุ่น McCarty ไม้ท็อปลาย flame maple ลายจัดๆ ส่วน finish หรือการเคลือบ ตามสเปคบอกว่าเป็น high gloss nitro เงาวับ แต่ความจริงที่พบคือ ME II 25th เกือบทุกตัวเคลือบไนโตรแบบด้านบางๆ
นอกจากไม้คอที่ต่างจาก ME 1 แล้ว ในส่วนของปิคอัพก็ไม่เหมือนกัน คือ ME II รุ่น 25 ปี มากับปิคอัพรุ่น 57/08 ตัดคอยล์ได้ ซึ่งเป็นโทน PAF ออกวินเทจเอาท์พุทไม่แรงมากนัก ย่านกลางเด่น นวล
นอกจากนี้ในส่วนของอะไหล่ก็ไม่เหมือนกัน คือรุ่น 25 ปีมากับอะไหล่มีทั้งเงินและทอง แต่ถ้าเป็นทองก็จะชุบเงาวับ ไม่ใช่ทองด้านๆ อย่าง ME 1 ลูกบิดทำจากไม้ ebony ให้สัมผัสคล้ายกีตาร์เกรด Private Stock บริดจ์มีให้เลือก 2 ออพชันระหว่างคันโยกกับ Stoptail
ผมเคยเขียนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ PRS Modern Eagle ทุกรุ่นไว้นะครับ ใครสนใจก็ลองคลิกเข้าไปอ่านดูครับ
25th Anniversary Modern Eagle III
- Model : 25th Anniversary Modern Eagle III
- Body : Mahogany, McCarty thickness
- Top : Figured maple, 10 top
- Neck : Indian rosewood
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : ME III
- Tuners : PRS Phase II locking, ebony buttons
- Bridge : Stoptail
- Pickups : 57/08 Narrowfield (bridge, middle, neck)
- Electronics : 5 way blade switch, 1 Volume, 1 Push/Pull Tone
- Hardware : Nickel or Gold
- Finish : Nitrocellulose, gloss or satin
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
Modern Eagle III หรือ แน่นอนว่ามันมากับคอไม้โรสวูดทั้งแท่ง บอดี้มาฮอกกานีชิ้นเดียว ไม้ท็อปเป็นเกรด 10 top มาตรฐานแต่ไม่มีการตอกเลข 10 ตรงมุมหลัง headstock ต้องถอดรหัสจากเอกสารเอาเอง (ME 1 กับ Dragon 2002 ก็ใช้ไม้ท็อปเกรด 10 แต่ไม่ตอกเลข เช่นกัน) ลายไม้ ME III บางตัว ผมให้คะแนนเท่า Artist grade top ได้เลย
ระบบไฟฟ้าของ Modern Eagle รุ่นที่ 3 นั้นก็คล้ายๆ McCarty Narrowfield 25th Anniversary คือติด pickup รุ่น 57/08 Narrowfield จำนวน 3 ตัว แล้วติดตั้งสวิทช์ blade 5 ทาง ผมเองไม่เคยลองเสียงปิคอัพรุ่นนี้ที่มากับกีตาร์คอ Rosewood ทั้งแท่ง แต่เคยลองเสียงปิคอัพ NF จากกีตาร์ PRS Swamp Ash Narrowfield 25th แล้วประทับใจ มันมีความชัด กระชับ เด้ง และสนุกกว่า 57/08 เวอร์ชันเต็มขนาดมาก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเกิดจากองค์ประกอบใดมากกว่ากัน ระหว่างส่วนผสมของไม้ กับปิคอัพ แต่คิดว่า ด้วยความชัดใสของปิคอัพรุ่นนี้ต่อให้มันไปอยู่กับกีตาร์ที่ใช้คอโรสวูดทั้งแท่งอย่าง Modern Eagle ก็น่าจะไปกันได้ดี เคยมีสมาชิกกลุ่ม prs Club Thailand ของผม จัดกีต้าร์รุ่นนี้มา เขาเล่าให้ฟังว่า happy กับเสียงของมันมาก
อย่างไรก็ดีในแง่ของ ราคาตลาดหรือความนิยมในกีต้าร์รุ่นนี้จากที่ผมเคยติดตาม ก็คงต้องพูดตามตรงว่า ไม่เป็นที่นิยมนัก แนวโน้มไม่มีมูลค่าเพิ่ม แทบไม่มีใครตามหามัน และราคาขายต่อก็แทบไม่ต่างอะไรกับ Custom สวยๆ 1 ตัว ผมคิดว่าก็เนื่องจากรูปร่างหน้าตาที่ดูพิลึกพิลั่นเกินกว่าแฟนๆ PRS ส่วนใหญ่จะรับได้ งบประมาณนี้เอาไปซื้อรุ่นอื่นเช่นรุ่น Custom 24 จะสบายใจกว่า และก็ไม่แปลกอะไรที่ ME III เปิดตัวในเวอร์ชันฉลอง 25 ปีเพียงแบบเดียว แล้วก็เลิกผลิตไป
25th Anniversary Hollowbody II
- Model : 25th Anniversary Hollowbody II
- Top : Figured maple, solid wood, with 2 f- holes
- Back : Figured maple, solid wood
- Side : Mahogany, solid wood
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : HB II
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Stoptail with L/R. Baggs Piezo acoustic pickups
- Pickups : 57/08 with covers
- Electronics :
- Magnetic controls : 3 way toggle switch, 1 Master Volume, 1 Tone,
- Piezo controls : 1 mini toggle switch, 1 Piezo volume,
- Outputs : 2 separate output jacks for magnetic and piezo signals
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell Hollowbody case
PRS รุ่น Hollowbody II คือกีต้าร์ตัวกลวงรุ่นเรือธงของค่ายลุงพอล มันเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1998 และกลายเป็นรุ่นขายดีของแบรนด์นับตั้งแต่นั้น เป็นกีตาร์หนึ่งในไม่กี่รุ่นของค่ายที่ไม่เคยหยุดพักสายการผลิตเลย เช่นเดียวกับรุ่น Custom 24 ต่างกันก็เพียงแต่ Hollowbody เกิดมาทีหลังก็เท่านั้น
โครงสร้างของ PRS Hollowbody II นั้นแทบจะกลวง 100% มีเพียงไม้ mahogany บล็อคเล็กๆ วางอยู่ใต้ Bridge เพื่อเสริมความแข็งแรง และทำหน้าที่เชื่อมระหว่างไม้ท็อปกับไม้แผ่นหลังเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือกลวงทั้งหมด นอกจากนี้การเลือกใช้ไม้ ก็เรียกได้ว่าเป็นกีตาร์ high end คือทั้งไม้หน้าและไม้หลังแกะขึ้นรูปจากไม้เมเปิล ซึ่งเป็น solid wood แท้ๆ ไม่ใช่ไม้อัดทากาวประกบเป็นชั้นๆ แล้วเอาเข้าแม่พิมพ์ อย่างที่เจอเกลื่อนกลาดในท้องตลาดนะครับ PRS Hollowbody ต้นทุนสูงกว่ามาก กรรมวิธีผลิตก็ยากกว่า
Hollowbody II มีความลึกของบอดี้วัดจากไม้หน้าถึงไม้หลังบริเวณใต้บริดจ์ คือ 3 นิ้วเต็มๆ และค่อยๆ บางลงเมื่อใกล้ขอบบอดี้ ความหนาตรงขอบบอดี้วัดได้ 2 3/4 นิ้ว
แต่สิ่งที่ต่างไปจาก Hollowbody รุ่นปีก่อนๆ คือ มีการปรับแพทเทิร์นการขึ้นรูปไม้หน้าใหม่ให้ตรงกลางหนาขึ้น มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการเอาบล็อคไม้ก้อนใหญ่ๆ วางเชื่อมไว้ระหว่างไม้หน้ากับไม้หลังเข้าด้วยกัน PRS เรียกดีไซน์โครงสร้างใหม่นี้ว่า center block
คอใช้ไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียว เชพ Wide Fat อ้วนเต็มมือ fingerboard ไม้ Indian Rosewood ความยาวสเกล 25 นิ้ว น้ำหนักกีตาร์รุ่นนี้ทั้งตัว ถือว่าเบามาก คือราวๆ 2 กิโลกรัมต้นๆ บางตัวหนักหน่อยก็อาจประมาณ 2.6 กิโลกรัม ซึ่งอย่างไรเสียก็ถือว่าเบากว่ารุ่น Custom 24 อยู่ถึง 1 กิโลเศษๆ เลยทีเดียว
ในส่วนของงานประดับก็เป็นไปตามสเปคของรุ่น 25 ปี ที่มีนกเงาทำจากวัสดุสังเคราะห์ มีเส้น binding ติดขอบฟิงเกอร์บอร์ดดูคลาสสิคเข้ากับบุคลิกของกีตาร์ ปิคอัพใช้รุ่น 57/08 ตามสเปค 25 ปี เคสก็สีขาวกระดูกเข้าทรงตามมาตรฐานกีต้าร์รุ่นนี้ที่ไม่ได้มากับเคสสี่เหลี่ยม
ผมเคยลองกีตาร์รุ่นนี้เวอร์ชั่นนี้กับแอมป์หลอด Two Rock สัมผัสแรกที่รู้สึกได้คือ ความไม่เหมือนกีตาร์ PRS รุ่นไหนๆ เลย มันเหมือนเป็นกีตาร์ที่แทบจะไม่มี bass impact ต่อให้เล่น palm mute ยังไงก็แทบไม่มีความตึ้บ แต่สิ่งที่ได้ทดแทนคือความโปร่งสบายของเสียง มีความรู้สึกผ่อนคลาย และเมื่อผสานกับเสียงคลีนที่เด่นย่านกลางของปิคอัพ 57/0 8 แล้วยิ่งกลมกล่อม มีความแจ๊ส แต่เมื่อเปิดเสียงแตก ก็กลับดุดันไม่ได้ต่างอะไรกับกีตาร์ตัวตัน หลายๆ รุ่นที่ผมเคยเล่นมา คือแตกดุได้ rock ได้ metal ก็ยังไหว
แน่นอนสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยสำหรับกีตาร์รุ่นนี้ ก็คือระบบ Piezo pickups ที่ PRS ร่วมออกแบบกับ L.R. Baggs ซึ่งมีไว้เพื่อเลียนเสียงกีตาร์โปร่ง ซึ่งเป็นสเปคมาตรฐานของรุ่น 25 ปี จาก ปกติพี่จะเป็น Option เสริม ระบบ Piezo pickups สามารถ เปิดปิดการใช้งานได้ด้วย Mini switch ที่สามารถเลือกได้ว่าจะ เปิดเสียงกีตาร์โปร่งอย่างเดียว เปิดเสียงกีตาร์ไฟฟ้าอย่างเดียว หรือจะเปิดทั้งสองเสียงพร้อมกันก็ได้ กีตาร์รุ่นนี้มีรู output 2 ช่อง คือช่องสำหรับส่งสัญญาณเสียงจากปิคอัพ 57/08 (ช่อง MIX/MAG) และอีกช่องหนึ่งสำหรับไว้ส่งสัญญาณเสียงกีตาร์โปร่งจากปิคอัพ Piezo (ช่อง PIEZO) แยกจากกันเพื่อคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเราไม่สะดวกที่จะใช้แอมป์ 2 ตัว เราก็สามารถส่งสัญญาณเสียงทั้ง 2 แบบออกไปยังแอมป์กีตาร์ไฟฟ้าเพียงตัวเดียวได้โดยผ่านช่อง output ของปิคอัพไฟฟ้าเพียงช่องเดียวตามปกติได้ เพียงแต่คุณภาพเสียงของกีตาร์โปร่งจะลดลงไปนิดหน่อยก็เท่านั้นเอง
สวย เบา เล่นได้กว้างมาก เหล่านี้คือคำนิยามที่ผม ขอใช้กับกีตาร์รุ่นนี้ และสำหรับคนที่คิดว่า กีตาร์หน้าตาแบบนี้ของ PRS เกิดมาเพื่อใช้เล่นดนตรีแจ๊ส เท่านั้น ผมอยากบอกว่า คุณคิดผิด และอยากแนะนำให้หาโอกาสลองกีตาร์รุ่นนี้สักครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเวอร์ชั่น 25 ปีก็ได้ ผมว่าเผลอๆ เวอร์ชั่นอื่นอาจจะเล่นได้กว้างกว่ารุ่น 25 ปีด้วยซ้ำ จากประสบการณ์ที่ผมเคยลองมาหลายเวอร์ชั่น ลองดูครับ ไม่แน่อาจจะตกหลุมรักกีตาร์รุ่นนี้จนต้องขาย Les Paul เพื่อระดมทุนซื้อ PRS รุ่นนี้ ก็เป็นได้
25th Anniversary Singlecut Hollowbody II
- Model : 25th Anniversary Singlecut Hollowbody II
- Top : Figured maple, solid wood, with 2 f- holes
- Back : Figured maple, solid wood
- Side : Mahogany, solid wood
- Neck : Mahogany
- Neck joint : Set-in, Singlecut style
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 25″
- Number of frets : 22
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : SC/HB II
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Stoptail with L/R. Baggs Piezo acoustic pickups
- Pickups : 57/08 with covers
- Electronics :
- Magnetic controls : 3 way toggle switch, 1 Master Volume, 1 Tone,
- Piezo controls : 1 mini toggle switch, 1 Piezo volume,
- Outputs : 2 separate output jacks for magnetic and piezo signals
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell Hollowbody case
กีตาร์รุ่นนี้ที่จริงก็คือทรง Singlecut ที่สร้างด้วยกรรมวิธีเดียวกับ hollowbody นั่นเอง ด้วย บอดี้กลวงโบ๋ มีการใช้ไม้เมเปิลแท้ๆ ประกบหน้าและหลัง เจาะรู f hole 2 ด้าน แต่มีความลึกของ Body มากกว่า รุ่น Hollowbody II และไม่มีชายเว้าด้านบน คอทำจากไม้มาฮอกกานีชิ้นเดียว แต่เข้าคอสไตล์เดียวกันกับทรง singlecut คือจะไม่มี neck heel ก้อนสี่เหลี่ยมโตๆ เหมือนทรง double cut โปรไฟล์คอแบบอ้วน ตามสไตล์ของกีตาร์แนวนี้ fingerboard ทำจากไม้ Indian Rosewood เฟรตมี 22 อัน และงานประดับก็เช่นเดียวกันกับรุ่น 25 ปีตัวอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เส้นขอบ binding พลาสติกสีขาว
ส่วนระบบไฟฟ้าก็เหมือนกับเอาของรุ่น Hollowbody II 25th มาใส่ทั้งยวง คือปิคอัพ 57/08 และชุดสวิทช์ทุกอย่างรวมกันอยู่บริเวณใกล้บริดจ์ SC BH II เล่นได้ทั้งเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าและกีต้าร์โปร่ง ความแตกต่างของเสียงของรุ่นนี้เมื่อเทียบกับรุ่น Hollowbody II คือฟังดูมีความโปร่งมากกว่า มีความแจ๊สมากขึ้น ย่านกลางเยอะขึ้น เพราะว่าบอดี้มี air หรือมี ความกลวงมากกว่า นั่นเอง
PRS Singlecut Hollowbody II 25th Anniversary มาพร้อมเคสทรง Hollowbody สีขาว 25 ปี
25th Anniversary Santana
- Model : 25th Anniversary Santana
- Body : Mahogany, Santana shape
- Top : Figured maple
- Neck : Mahogany
- Neck profile (s) : Santana Wide Fat
- Scale length : 24.5″
- Number of frets : 24
- Fingerboard : Indian rosewood with white plastic binding
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary Shadow Birds, banded melon
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, banded melon
- Truss rod cover text : ‘OM’ symbol
- Tuners : PRS Phase II locking, nickel
- Bridge : PRS Tremolo
- Pickups : Santana
- Electronics : 3 way toggle switch, 1 Volume, 1 Tone
- Hardware : Nickel
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
สำหรับ Santana เวอร์ชัน 25 ที่มาแทนที่เวอร์ชันเก่า คือรุ่น Santana MD นั้น แม้จะยังใช้คอเชพ Santana Wide Fat อ้วนพิเศษ กับสเกล 24.5 นิ้วเหมือนเวอร์ชันก่อน แต่ในรายละเอียดของโครงสร้างมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย คือเรเดียสฟิงเกอร์บอร์ดเปลี่ยนจาก 11.5 นิ้วที่เคยใช้มาตั้งแต่แรกเริ่ม มาเป็น 10 นิ้ว (หน้าโค้งกว่าเดิมเล็กน้อย) ตาม PRS รุ่นอื่นๆ ส่วนพวกวงจรไฟฟ้าแบบ active ของเวอร์ชัน MD ก็ยกเลิกไป แล้วหันมาใช้วงจร passive ตามปกติ ร่วมกับปิคอัพเซ็ทของ Santana แทน
จากที่ผมเคยลอง PRS Santana ตัวอเมริกามา กีตาร์ซีรีส์นี้ให้โทนเสียงที่อ้วนแต่แรง หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามันเป็นวินเทจแรงต่ำนวลๆ แต่ความเป็นจริงคือมันแรงพอตัวเลย เล่นกับเสียงแตกสนุกใช้ได้ สเกลที่สั้นเพียง 24.5 นิ้วก็ช่วยให้กีตาร์รุ่นนี้ดันสายง่าย เล่นสนุก แต่ด้วยสเกลที่สั้นยิ่งกว่า Gibson แต่ดันซอยช่องเฟรทถี่ยิบ 24 อัน ก็อาจทำให้การเล่นเฟรทในๆ รู้สึกอึดอัดนิดหน่อย
25th Anniversary Dragon
- Model : 25th Anniversary Dragon
- Body : Mahogany, Santana/Howard Leese shape
- Top : Figured maple
- Neck : Madagascar rosewood
- Neck profile (s) : Wide Fat
- Scale length : 24.5″
- Number of frets : 24
- Fingerboard :
- International market version : Madagascar rosewood, 60 guitars
- USA market version : Brazilian rosewood, 40 guitars
- Fingerboard inlay : 25th Anniversary ‘Snarling Dragon’
- Headstock veneer : Rosewood
- Headstock inlay/logo : 25th Anniversary Eagle, green ripple abalone
- Truss rod cover text : –
- Tuners : PRS Phase II locking, ebony buttons
- Bridge : PRS Tremolo
- Pickups : 59/09 with covers
- Electronics : 3 way blade switch, 2 Volume, 1 Master Tone
- Hardware : Hybrid
- Finish : polyester base coat with acrylic top coat, high gloss
- Accessory : 25th Anniversary white tolex hardshell case
กีตาร์ซีรีส์ Dragon คือกีตาร์รุ่นสูงสุดของแบรนด์ PRS ที่ขึ้นชื่อเรื่องการคัดสรรไม้ที่สวย หายาก และที่สำคัญคืองานอินเลย์รูปมังกรในม่วงท่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี เจ้ามังกรรุ่นฉลอง 25 ปีมาพร้อมอินเลย์ Snarling Dragon รูปมังกรกำลังแยกเขี้ยวคำราม สร้างขึ้นจากวัสดุสีสันสวยงามจากธรรมชาติ ตั้งแต่เปลือกหอยหลากชนิด หินแร่สีต่างๆ ที่บรรจงฝังลงไปบนไม้ฟิงเกอร์บอร์ดยาวไปจนถึง headstock ลวดลาย Snarling Dragon นี้เป็นผลงานการออกแบบของ Jeff Easley ศิลปินผู้ออกแบบลวดลายมังกรบนกีตาร์ PRS หลายต่อหลายรุ่น
คลิกอ่านเรื่องราวของกีตาร์ PRS Dragon series ครบทุกรุ่นได้ที่นี่ครับ (บทความมี 2 หน้า)
คลิกอ่านเบื้องหลังงานอินเลย์กีตาร์ PRS ได้ที่นี่ครับ
พูดถึงรูปทรง ดูเผินๆ กีตาร์รุ่นนี้ก็น่าจะเป็นทรง Santana แต่ความจริงแล้วไม่ใช่นะครับ มันใช้แพทเทิร์นของ PRS Private Stock Howard Leese Golden Eagle limited เป็นต้นแบบ ซึ่งตัวหนากว่าและมีปุ่มคอนโทรลไม่เหมือน Santana เวอร์ชันปกติ แต่ยังใช้สเกล 24.5 นิ้วและซอยเฟรทถี่ยิบ 24 ช่องเหมือนรุ่น Santana
ในส่วนของไม้ บอดี้เป็นมาฮอกกานีชิ้นเดียวหนาๆ ท็อปเมเปิลลายเฟลมจัดๆ คอโรสวูดทั้งแท่ง เป็นโรสวูดสายพันธุ์มาดากัสการ์ ที่ให้โทนย่านแหลมชัดกว่า Brazilian rosewood เล็กน้อย Dragon รุ่นฉลอง 25 ปี ผลิต 100 ตัว ในจำนวนนี้มี 60 ตัวที่ฟิงเกอร์บอร์ดทำจากไม้ Madagascar rosewood ซึ่งถูกส่งขายทั่วโลก และอีก 40 ตัวใช้ไม้ Brazilian rosewood ซึ่งขายเฉพาะในอเมริกา เนื่องจากส่งออกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นหลังหัวของกีตาร์รุ่นนี้บางตัวเขียนเลข model production run ว่า xx/60 แทนที่จะเป็นเลข /100
ในส่วนของภาคไฟฟ้า มังกร 25 ปีมากับปิคอัพรุ่น 59/09 แบบมีฝาครอบ แต่เนื่องจากมันใช้พื้นฐานของรุ่น Howard Leese ปุ่มคอนโทรลจึงมี 3 อัน โดยเป็น 1 master volume และ 2 tone แยกจากกัน ปุ่ม knobs ทั้งสามอันวางเรียงกันเป็นแนวโค้งตามทรงบอดี้ มีสวิทช์ blade 3 ทาง เมื่อเทียบกับรุ่น 57/08 แล้ว สุ้มเสียงของปิคอัพ 59/09 ให้ย่านแหลมที่ดีกว่า ย่านกลางที่กระชับกว่า และมี output แรงกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังจัดเป็นปิคอัพแนววินเทจที่ไม่แรงอย่างปิคอัพยุคก่อนๆ อย่าง HFS กับ Dragon
PRS SE 25th Anniversary Guitar
25th Anniversary SE Custom 24
- Body : Mahogany, multi piece
- Top : thin, flat maple with quilted maple veneer, without forearm contour
- Neck : maple, 3 pieces
- Neck profile : Wide thin
- Headstock veneer : Quilted maple, matching color with top
- Headstock decal : SE Custom
- Truss rod cover text : PRS
- Fingerboard : Rosewood
- Fingerboard inlays : Birds, synthetic
- No. of frets : 24
- Scale length : 25″
- Tuners : PRS designed
- Nut : plastic
- Bridge : PRS designed tremolo
- Pickups : PRS SE HFS (bridge) and SE Vintage Bass (neck)
- Controls : 1 vol, 1 tone, 3 way toggle switch
ไลน์ SE ก็ได้รับอัพเกรดในปี 2010 ด้วย หนึ่งในการอัพเกรดครั้งสำคัญคือ อินเลย์นก เป็นครั้งแรกของ PRS SE ที่มีอินเลย์นกมาประดับบนฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนๆ PRS SE ต่างเรียกร้องกันมานาน และอินเลย์นกนี้ก็ได้ใช้ใน SE อีกหลายๆ รุ่นนับจากนี้ นอกจากอินเลย์นกบนบอร์ด ก็ยังมีวีเนียร์ลาย quilted maple สวยๆ ให้ทั้งหน้าท็อปและบน headstock ด้วย (สีเหลืองก็มีลายไม้บนหัว แต่ต้องมองใกล้ๆ) ซึ่งวีเนียร์ลาย quilted maple นี้เป็นสเปคมาตรฐานของ SE Custom 24 รุ่นฉลอง 25 ปีเท่านั้นนะครับ หลังจากรุ่นนี้ ในปีต่อๆไปก็กลับมาใช้วีเนียร์ลายเฟลมตามปกติ
ไม้ท็อปของ SE CU24 25th ยังเป็นแบบเก่า คือท็อปบางๆ และค่อนข้างแบน ไม่นูนไม่ปาด bevel เหมือนอย่างปีปัจจุบัน นอกจากนี้ระบบไฟฟ้าก็ยังเป็นเวอร์ชันเก่า คือมีสวิทช์ toggle 3 ทาง แต่ไม่มี push-pull tone ให้ตัดคอยล์ ปิคอัพ SE HFS set ตัวแรงที่ติดตั้งมาให้กับ SE CU24 เวอร์ชันนี้ก็ไม่มีสายไฟตัดคอยล์ ต่างจากล็อตใหม่ๆ ที่เป็น blade switch ที่ตัดคอยล์ได้แถมท็อปหนากว่า
ดังนั้นถ้าถามผมว่า เทียบกับ SE CU24 ปีปัจจุบันแล้ว อันไหนน่าจัดกว่า ผมก็ต้องตอบว่าปีหลังๆ น่าจัดกว่าครับ บอดี้หนากว่า ตัดคอยล์ได้ และถ้าได้ปี 2017 เป็นต้นมาก็จะได้หัวลายเซ็นด้วย สวยกว่า 25 ปีเยอะ แต่ถ้าใครชอบลายควิลท์สวยๆ ที่ประดับถึง headstock จะจัดรุ่น 25 ปีเอามาโมเล่นก็ไม่ผิดอะไรครับ
Amplifiers
25th Anniversary Amplifiers
- Amp Model : 25th Anniversary
- Format : All- tube head
- Output : 50 and 100 watts, with 6 steps of power attenuation
- Channel (s) : 1
- Tubes
- Power tubes :
- 50 watts : two EL34
- 100 watts : four EL34
- Preamp tubes : three 12AX7
- Power tubes :
- Controls : Treble Gain, Bass Gain, Bass, Mid, Treble, Gain, Presence
- Effects loop : –
- Reverb : –
- Dimensions : 22.5 x 11 x 9.75 inches
- Weight :
- 50 watts : 15.5 Kg
- 100 watts : 18.2 Kg
PRS ออกแอมป์รุ่นฉลอง 25 ปีด้วยนะครับ ชื่อรุ่นก็ 25th Amplifier ตรงรุ่นเลย แอมป์รุ่นนี้ผลิตด้วยกรรมวิธี handwired มีแรงขับให้เลือกสองแบบ 50 กับ 100 watt ผลิตในโรงาน PRS ที่อเมริกา
แอมป์รุ่นนี้ถอดแบบมาจาก Marshall Plexi ปี 68 ที่ลุงพอลซื้อต่อมาจาก Eric Johnson ซึ่งแอมป์ดังกล่าวผ่านการโมดิฟายมา เมื่อลุงได้มาก็เอามาวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ แอมป์รุ่นนี้ขับเคลื่อนด้วยหลอด EL34 สองหลอดในส่วนของ power tubes ในส่วนของ pre amp tubes ใช้หลอด 12AX7 จำนวนสามหลอด ชิ้นส่วนในวงจรใช้เกรดยุทโธปกรณ์ (military grade) เช่นตัวต้านทานทำจากคาร์บอน ติดตั้งอะไหล่วงจรด้วยมือ (handwire) ใช้ transformer ขนาด 50 watts เกรดสูงสูงจาก Cinemag
นอกจากรักษาโทนเสียงสไตล์ vintage Marshall แล้ว ลุงพอลกับ Doug Sewell วิศวกรแอมป์ของแบรนด์ PRS ก็ยังจัดการเพิ่มเติมสเปคสมัยใหม่เข้าไป เช่นวงจรลดวัตต์ 6 ระดับ เพื่อช่วยรักษาโทนเสียงไม่ให้เปลี่ยนไปเมื่อลดวอลุ่ม รวมถึง bias jack ด้านหลังไว้ปรับค่า bias ของหลอด
โทนเสียงก็ออก Marshall ย่านกลางอวบอิ่ม เสียงแตกที่ฟังดูมีความ musical ไม่กดกลางจิกสมอง PRS 25th Anniversary Amplifier มากับออพชันรูปลักษณ์สีสันหลายแบบให้เลือก ตั้งแต่หุ้ม tolex สีดำเรียบๆ ไปถึงลาย Paisley สีทองแบบตัวในรูปนี้ซึ่งเป็นลายลิมิเต็ดผลิต 100 หัว
ส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าข้อมูลที่ผมรวบรวมมาให้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะกำลังหากีตาร์ PRS เวอร์ชัน anniversary หรืออ่านเอามันส์เป็นข้อมูลก็ตาม สำหรับตอนต่อไปผมจะเล่าถึง PRS Anniversary guitars รุ่นถัดจาก 25 ปี ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ