PRS Dragon อัพเดทราคา ปี 2017 ตัวไหนแพงสุด?
PRS เป็นกีตาร์ที่ใครๆก็บอกว่าราคาสูง แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ราคาสูงที่สุดของค่ายนี้เห็นทีจะหนีไม่พ้นซีรีส์ Dragon หรือกีตาร์มังกรที่เกิดจากแรงแห่งฝันในวัยเด็กของลุงพอลตามที่ผมเคยเล่าไว้
วันนี้ผมอยากนำเสนออัพเดทราคากีตาร์ PRS Dragon ซึ่งเป็นข้อมูลราคาประจำปี 2017 ที่รวบรวมโดยหนังสือ Vintage Guitars Magazine Price Guide 2017 ซึ่งข้อมูลจากแมกกาซีนเล่มนี้เป็นแหล่งข้อมูลที่ร้านกีตาร์ในต่างประเทศนิยมใช้อ้างอิงเป็นราคากลางสำหรับกีตาร์มือสอง จึงถือได้ว่ามีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของวงการซื้อขายกีตาร์มือสองในต่างประเทศครับ แต่อย่างที่ชื่อหนังสือมันก็บอกอยู่ว่าเป็นแนวทางการตั้งราคา (price guide) ดังนั้นในการซื้อขายจริงก็ต้องดูองค์ประกอบของแต่ละตัวด้วย ใบ certificate มีไหม? สภาพเป็นยังไง? บางตัวที่ price guide บอกว่าควรจะแพง อาจกลายเป็นราคาตกก็ได้ถ้าเอกสารหาย เป็นต้น
PRS Dragon ตัวไหนแพงสุด?
ผมอยากให้เพื่อนๆ ลองทายกันสนุกๆ ว่าตัวไหนแพงที่สุด? จากทั้งหมด 9 รุ่น ผมไม่นับตัวแรกสุดที่ลุงพอลเก็บสะสมเป็นการส่วนตัวนะครับ เพราะไม่ใช่ของซื้อของขาย ส่วนอีกตัวคือ PRS Dragon 30th Anniversary ที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2015 ทาง VG ก็ยังไม่มีข้อมูลนะครับ คิดว่ายังใหม่อยู่ ยังไม่มีคนปล่อย ผมจึงไม่มีในลิสต์ ก็เหลือ 7 รุ่น แต่มีอยู่สองรุ่นที่แชร์อันดับความแพงร่วมกันอยู่ สรุปคือสามารถจัดอันดับได้ทั้งหมด 6 อันดับครับ
สำหรับราคาเงินบาทนั้น ผมใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18/04/61 ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นเรตที่ดอลลาร์อ่อนสุดในรอบหลายปี ดังนั้นถ้าดอลลาร์แข็งตัวกลับมาอยู่แถวๆ 35 – 36 บาทเมื่อไหร่ ราคากีตาร์พวกนี้ก็จะพุ่งขึ้นไปอีกนะครับ
ผมจะเริ่มจากตัวที่ราคาประเมิน “ถูกที่สุด” ก่อนนะครับ
อันดับ 6
PRS Dragon 2002 (2002)
ราคาประเมิน 9,000 – 12,000$ (281,340 – 375,120 บาท)
ผลิต 100 ตัว
เวรกรรมๆๆ ไหงตัวโปรดของผมมันอยู่อันดับสุดท้ายวะเนี่ยยย!! มันคือ PRS Dragon ปี 2002 ที่เคยสร้างความฮือฮาในบ้านเราเมื่อตอนเปิดตัวด้วยราคาขาย 999,000 บาทที่ปีนั้นดีลเลอร์สั่งมาสองตัวแต่ไม่ทันวางขาย เพราะมีคนสอยไปก่อน! เจ้านี่เป็นกีตาร์มังกรรุ่นเดียวในขณะนี้ที่มากับบอดี้ทรง Singlecut สเกล 25 นิ้ว คอ Brazilian rosewood ทั้งแท่ง อินเลย์หัวมังกรสองพันสองแยกเขี้ยว
อุแหม่ ถ้าได้ตัวสีแดงด้วยนี่ น่าเอาไปเล่นฉลองวันตรุษจีน มังกรแดงดูเป็นสิริมงคลดี เฮงๆๆ ฮ่าๆๆ
ราคาตกก็ช่างแม่งจิ ผมมองว่าดีเสียอีก จะได้สอยง่ายขึ้น หมายถึงง่ายสำหรับคนอื่นนะครับ เพราะราคาสามแสนกว่ายังไงซะผมก็ไม่ไหวอยู่ดี ฮ่าๆๆ
อันดับ 5
PRS Dragon 25th Anniversary (2009 – 2010)
ราคาประเมิน 10,000 – 13,000$ (312,450 – 406,185 บาท ราคาของล็อตที่ขายในอเมริกา)
ผลิต 100 ตัว
ผลิต: รวม 100 ตัว แยกเป็น
- 60 ตัวสำหรับตลาดอเมริกา ไม้ฟิงเกอร์บอร์ดเป็น Jacaranda เป็นไม้พื้นเมืองของบราซิลที่ CITES จัดให้อยู่ในสกุล (genus) เดียวกันกับไม้โรสวูด จุดเด่นของไม้ชนิดนี้คือมี grain ที่ดูคล้ายไม้ Brazilian rosewood
- 40 ตัวส่งขายนอกอเมริกา ไม้ฟิงเกอร์บอร์ดเป็นไม้ Madagascar rosewood
PRS Dragon ที่มาในทรง Santana ที่เราคุ้นตา แต่ต่างประเทศจะเรียกมังกรรุ่นนี้ว่าเป็นทรง Howard Leese เพราะใช้ control layout เหมือนกับ PRS ตัวที่ลุงพอลทำให้ Howard Leese มังกรรุ่นนี้ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองเบญจเพสของบริษัท PRS คอเป็นไม้ตระกูลโรสวูดทั้งแท่ง อินเลย์มังกรบนฟิงเกอร์บอร์ดที่อาจต้องดูใกล้ๆนิดนึงจึงจะเห็นว่าเป็นมังกร แต่งานอินเลย์ของรุ่นนี้สวยนะครับ
อันดับ 4
PRS Dragon 20th Anniversary (2005)
ราคาประเมิน 13,000 – 17,000$ (406,185 – 531,165 บาท)
ผลิต 50 ตัว
PRS Dragon รุ่นฉลอง 20 ปียี่ห้อลุงพอล ที่บางคนก็เรียกว่า PRS Dragon Doubleneck, PRS Dragon 2005 เนื่องจากเอกลักษณ์ชัดเจนของรุ่นนี้คือมีสองคอ และมีอินเลย์มังกรสองตัวกำลังจิกตีกันอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่บนท็อปของกีตาร์ และทอดหางยาวลงมาบนฟิงเกอร์บอร์บราซิเลี่ยน Dragon 20th นี้ถือเป็นรุ่นที่ใช้วัสดุอินเลย์มากที่สุดในซีรีส์ (และใช้ไม้เยอะสุดด้วย ฮ่าๆ)
อันดับ 3
PRS Dragon II (1993) และ Dragon III (1994)
ราคาประเมิน 14,000 – 18,000$ (437,430 – 562,410 บาท)
ผลิตรุ่นละ 100 ตัว
PRS Dragon II
PRS Dragon III
http://www.ainig.co.kr/column/39925?ckattempt=1
อันดับ 3 มีสองรุ่น เป็นพี่น้องรุ่นที่ 2 และ 3 ที่ผลิตจำนวนรุ่นละร้อยตัว สเปคก็ใกล้เคียงกัน หลักๆก็ต่างกันที่ลวดลายของอินเลย์มังกรนั่นเอง สำหรับมังกรสองรุ่นนี้ยังวางอินเลย์ทั้งหมดไว้บนฟิงเกอร์บอร์ดบราซิเลียนโรสวูด คอมาฮอกกานี ทั้งสองตัวมากับปิคอัพรุ่น PRS Dragon ที่เปิดตัวมาเพื่อเป็นเขี้ยวเล็บของกีตาร์มังกรเจเนอเรชั่นแรกๆ ท่ีมีเอาท์พุทแรง ให้ซาวด์โมเดิร์น
อันดับ 2
PRS Dragon 2000 หรือ Millennium Dragon (1999 – 2000)
Black cherry: ราคาประเมิน 18,000 – 23,000$ (562,410 – 718,635 บาท)
สีหายากอื่นๆ: ราคาประเมิน 21,000 – 27,000$ (656,145 – 843,615 บาท)
ผลิต 50 ตัว
http://americanhistory.si.edu/collections/search/object/nmah_1192868
PRS Dragon 2000 รุ่นนี้ทีเด็ดอยู่ที่คอ Brazilian rosewood ทั้งแท่ง อินเลย์มังกรสไตล์ 2000 ที่ย้ายจากฟิงเกอร์บอร์ดไปอยู่บนท็อปเป็นปีแรก ลายไม้ก็สุดติ่งกระดิ่งแมวอย่างที่เห็น มังกรรุ่นนี้มากับปิคอัพที่พัฒนาขึ้นเฉพาะกีตาร์รุ่นนี้นะครับ ไม่มีติดตั้งในกีตาร์สายการผลิตอื่น
อันดับ 1
Dragon I (1992)
สี Amber: ราคาประเมิน 23,000 – 31,000$ (71,8635 – 96,8595 บาท)
สี Teal black (เหมือนที่ลุงพอลถือในรูป): ราคาประเมิน 21,000 – 29,000$ (656,145 – 906,105 บาท)
ผลิต 50 ตัว
แชมป์ตกเป็นของ PRS Dragon I หรือมังกรรุ่นแรก จากราคาเปิดตัวแปดพันเหรียญในปี 1992 ตอนนี้พุ่งไปเกือบสามหมื่น ในส่วนของสเปคก็ไม่ได้หวือหวา ไม่ใช่คอบราซิเลี่ยน อินเลย์ก็ไม่ดูซับซ้อนอย่างปีหลังๆ แต่เจ้าตัวนี้มีเสน่ห์แห่งความออริจินอล มี story มีความเป็นมา และเก่าสุดแถมยังผลิตน้อย Vintage Guitars Magazine ได้ระบุไว้ว่า สำหรับ PRS Dragon I ถ้าจะขายให้ได้ในราคานี้ ต้องเป็นตัวที่สภาพโคตรเนี้ยบจริงๆ ไม่มีร่องรอยของการใช้งานนะครับ
ส่งท้าย
ทายถูกกันรึเปล่าครับเพื่อนๆ ถ้าให้ผมเดา เพื่อนๆส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็น Dragon 2002 ชิมิ ที่ไหนได้กลับราคาตกต่ำที่สุดในซีรีส์เลย สำหรับรูป detail งานอินเลย์และสเปคโดยละเอียดของกีตาร์ PRS Dragon ทุกรุ่น ทั้งตระกูล คลิกอ่านได้ที่นี่นะครับ
หนังสือ Vintage Guitars Magazine Price Guide 2017 ยังมีข้อมูลราคาของกีตาร์อีกมายมายหลายยี่ห้อ รวมๆเป็นพันรุ่น เล่มหนาเตอะข้อมูลเยอะสะใจ สำหรับใครที่สนใจก็ไปสอยกันได้ที่ร้าน Kinokuniya ที่พารากอนนะครับ ผมอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้สำหรับเพื่อนๆที่ทำธุรกิจซื้อขายกีตาร์ ถ้าเป็นไปได้ผมว่าซื้อสักปีละเล่มก็ดีครับ ผมไม่ได้ค่าสปอนเซอร์นะครับ แค่คิดว่าสิ่งที่ผมรู้มันอาจจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้าง ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ถ้าใครสนใจหนังสือก็คลิกเช็กสต๊อกได้ที่นี่นะครับ https://thailand.kinokuniya.com/bw/9781884883361
https://store.vintageguitar.com/the-official-vintage-guitar-price-guide-2017.html
ติดตามอ่านบทความของผมได้ทาง FB page คลิกที่นี่ครับ
เข้ากลุ่ม FB กีตาร์ PRS คลิกที่นี่ครับ